กวางผา Goral
Naemorhedus griseus
ละองละมั่ง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกวางขนาดกลาง มีกีบคู่ ตามลำตัวมีขนหยาบและยาว สีน้ำตาลแดง แต่สีขนจะอ่อนลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวขนจะยาวมาก
ลักษณะทั่วไป
มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ มีหูยาว ขนตามลำตัวหยาบและหนามีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง ตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณลำคอด้านในมีขนสีอ่อน ริมฝีปากและรอบ ๆ ตาสีขาว เขาสั้นมีสีดำ ตัวผู้จะมีเขาที่หนาและยาวกว่าตัวเมีย มีความยาวลำตัวและหัว 82–120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5–20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50–60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22–32 กิโลกรัม ผสมพันธุ์ในเดือนตุลาคม–ธันวาคม ใช้เวลาตั้งท้องนาน 6–7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงตัวอื่น ๆ ในฝูง ใช้ประสาทการมองมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชทั่วไป มักออกหากินตามทุ่งหญ้าโล่งในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาเช้าตรู่ กินอาหารได้แก่ หญ้า, ยอดอ่อนของใบไม้, รากไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกก่อเป็นอาหารหลัก สามารถว่ายน้ำได้ดี มีอายุประมาณ 10-11 ปี
มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของรัฐสิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคกลางและภาคใต้ของจีน, พม่า, ภาคเหนือของไทยและลาว มักอาศัยและหากินรวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ประมาณ 4-12 ตัว ตามทุ่งหญ้าบนภูเขาและชะง่อนผาบนเทือกเขาสูง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร สถานภาพของกวางผาจีน ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ในประเทศไทยเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน พบว่ามีเหลืออยู่ที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกของผู้คนในท้องถิ่นว่า "ม้าเทวดา" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลึกลับ หายากมาก และเมื่อพบเห็นตัวก็จะหลบหนีไปด้วยความรวดเร็ว กวางผามักถูกล่าเพราะมีความเชื่อว่าน้ำมันจากกะโหลก มีคุณสมบัติทางยาสมานกระดูก รักษาโรคไขข้ออักเสบได้
ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ภาพ : สมาคมอุทยานแห่งชาติ
Opmerkingen