เต่ามะเฟือง
(Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea)
จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากมีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล และมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัวในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ ให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 18แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผลจากการดูแลเต่ามะเฟืองและแหล่งที่อยู่อาศัยจะช่วยคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
ลักษณะทั่วไป
เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาวได้ถึง 256.5 เซนติเมตร หนัก 916 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน อาศัยอยู่ในทะเลเปิด กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต
เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง วางไข่ครั้งละ ประมาณ 66 -104 ฟอง ไข่มีสีขาวออกแดงเรือง ๆ ขนาดจะใหญ่กว่าเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ คือมีขนาดความยาวรอบ 2.5 นิ้ว จากนั้นแม่เต่าจะคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปร ที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า
โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อม ๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเลลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่ เต่ามะเฟืองสามารถ ดำน้ำลึกได้ถึง 1,280 เมตร
ลักษณะใบหน้า
จะงอยปากบนมีลักษณะเป็นหยัก 3 หยัก กินอาหารที่อ่อน ๆ เช่น แมงกะพรุน แพลงตอน สาหร่าย เป็นต้น
ลักษณะกระดอง
ลักษณะกระดองไม่เป็นเกล็ด แต่เป็นแผ่นหนังหนาสีดำ อาจมีแต้มสีขาวประๆ ทั่วตัว กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงท้ายจำนวน 7 สัน (รวมขอบข้าง) ไม่มีเกล็ดปกคลุมส่วนหัว บางรายงานว่ามีลักษณะคล้ายผลมะเฟือง)
ลักษณะครีบ
ครีบหน้าใหญ่ลักษณะเหมือนใบพาย ครีบคู่หน้าไม่มีเล็บ
อาหาร
แพลงตอน สาหร่ายทะเล แมงกระพรุน
พื้นที่การกระจายพันธุ์
ข้อมูลจาก : http://www.dnp.go.th/wildlife_it/n_web/lacegant/wildlife_reserve/page_tmf.php สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
ภัยคุกคามต่อเต่ามะเฟือง
1. ติดเครื่องมือประมง ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น
2. ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย
3. การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด
สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลในประเทศไทย
4. ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด
5. ขยะทะเล ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย เต่ามะเฟืองซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมากคือขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต
สถิติการเกยตื้นแสดงจำนวนที่เกยตื้นรายปี (พื้นที่สีแดง) และจำนวนที่เกยตื้นจากสาเหตุขยะในทะเล (เส้นกราฟสีเขียว)
การใช้ประโยชน์และการค้า
ไม่พบการล่าจับเต่ามะเฟืองในน่านน้ำไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการค้า แต่พบการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ซึ่งอาจนำไปสู่การส่งออกเพื่อขายสำหรับการอุปโภคและบริโภคในตลาดต่างประเทศ
มีการลักลอบเก็บไข่เต่ามะเฟืองเพื่อการบริโภคและลักลอบขาย
ข้อกฎหมาย เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ป่าในกลุ่มที่ 1 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าส่งออก ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ซึ่งกำหนดให้สัตว์ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ห้ามนำเข้า-ส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน
Comments